กลับก่อนหน้านี้
โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia)

แปลและเรียบเรียงโดย ดร. ลดา ผดุงเกียรติ

 

Frontotemporal Dementia (FTD) หรือที่รู้จักในชื่ออื่นๆ คือ Pick’s disease หรือ frontal lobe dementia คือภาวะที่มีการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทบริเวณสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) และส่วนขมับ (Temporal lobe)  ทั้งนี้ FTD เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคสมองเสื่อมที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยจะสามารถพบกลุ่มอาการที่หลากหลายในผู้มีภาวะสมองเสื่อมประเภทนี้

 

Frontotemporal Dementia (FTD) คืออะไร

 

คำว่า Frontotemporal นั้นมากจากชื่อเรียกส่วนของสมองที่มักเสียหายในประเภทสมองเสื่อมนี้ อันประกอบไปด้วย

 

1) ส่วนของสมองส่วนหน้า (frontal lobes) จะอยู่ในตำแหน่งบริเวณหน้าผาก มีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม การแก้ปัญหา การวางแผน และควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางอารมณ์ โดยที่ส่วนมากแล้วพื้นที่ทางด้านซ้ายของสมองส่วนหน้าที่จะทำหน้าที่ควบคุมการพูดด้วย

 

2) ส่วนของสมองด้านข้างบริเวณใกล้ขมับ (temporal lobes) พื้นที่สมองส่วนนี้มีหลายบทบาทด้วยกัน โดยที่ทางด้านซ้ายมักจะทำหน้าที่ตีความหมายของคำ และชื่อของสิ่งต่างๆ และทางด้านขวามักจะทำหน้าที่ควมคุมความสามารถในการจดจำใบหน้าและสิ่งต่างๆ

 

FTD เป็นภาวะที่เกิดเมื่อเซลล์ประสาทที่อยู่ในบริเวณสมองส่วนหน้าและ/หรือส่วนด้านข้างตาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วนต่างๆ ตัวขนส่งทางเคมี (chemical messenger) ที่สังเคราะห์มาจากเนื้อเยื่อจำเพาะในร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทก็จะหายไปบางส่วนด้วย และเมื่อเวลาผ่านไป เซลล์ประสาทก็จะตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเนื้อเยื่อของสมองในส่วนด้านหน้าและด้านข้างก็จะค่อยๆหดตัว

 

เมื่อสมองในส่วนด้านหน้าและ/หรือด้านข้างเสียหาย มักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกและพฤติกรรม และความสามารถในการใช้และเข้าใจภาษา โดยที่อาการเหล่านี้จะแตกต่างไปจากการสูญเสียความทรงจำที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อมประเภทอื่นๆที่พบได้บ่อยกว่า เช่น อาการของโรคอัลไซเมอร์

 

ภาวะสมองเสื่อม FTD พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ หลายๆคนหรือแม้กระทั้งบุคลากรทางด้านการแพทย์บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินคำนี้

FTD ในกลุ่มคนอายุก่อน 65 ปี

 

ถึงแม้ FTD จะพบได้น้อยกว่าสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ เช่น ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อมจากสมองขาดเลือด (Vascular dementia) แต่หากพิจารณาเฉพาะการเกิดภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มคนที่มีอายุไม่มาก นั่นคือ กลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี FTD นั้นถูกจัดให้เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเป็นอันดับ สองหรือสาม เลยทีเดียว และยังมีโอกาสจะเกิดกับผู้หญิงและผู้ชายในสัดส่วนที่พอๆกัน

 

ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจาก FTD มักจะถูกตรวจพบในประชากรที่มีอายุระหว่าง 45 ถึง 65 ปี อย่างไรก็ตาม FTD สามารถพบได้ในกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยหรือสูงกว่าช่วงอายุดังกล่าวเช่นกัน เพียงแต่มักจะถูกมองข้้ามไป และมุ่งความสนใจไปยังสาเหตุอื่นๆที่พบบ่อยกว่าเช่น อัลไซเมอร์

 

ผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจาก FTD ส่วนมากต้องเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายต่างๆเนื่องจากต้องเผชิญภาวะนี้ตั้งแต่อายุยังไม่มากนัก หลายๆคนอาจจะยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ มีภาระค่าใช้จ่ายที่ยังต้องรับผิดชอบหรือยังต้องส่งเสียบุตร และมีความต้องการบริการหรือความช่วยเหลือที่แตกต่างออกไป

 

ประเภทและกลุ่มลักษณะอาการ

 

อาการของผู้มีภาวะสมองเสื่อม FTD จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ในสมองส่วนหน้าและส่วนข้างที่เกิดความเสียหาย ภาวะสมองเสื่อม FTD สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทย่อย ตามกลุ่มลักษณะอาการความผิดปกติ 3 กลุ่มอาการหลัก ดังนี้

  • มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม (Behavioral Variant)
  • สูญเสียทักษะการใช้ภาษาในการสื่อสาร (Progressive non-fluent aphasia)
  • มีความบกพร่องของการเลือกใช้คำศัพท์ (Semantic Dementia)

 

เหมือนกับสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงเริ่มต้น และค่อยๆแย่ลงเมื่อโรคดำเนินไป

อ่านเพิ่มเติมแบบละเอียดๆ ในส่วนของ ที่มา สาเหตุ และการดูแลผู้ป่วย ได้ในฉบับเต็ม โดยดาวน์โหลดไฟล์ด้านข้างเลยค่ะ

 

ที่มา

 

1. Alzheimer's soceity UK. Factsheet: What is frontotemporal dementia (FTD)?(online). Avialable from:          http://www.alzheimers.org.uk/site/scripts/download_info.php?downloadID=1096

2. Youtube (online video). Frontotemporal Dementia. available from: https://www.youtube.com/watch?v=EHSdNjhkvE8

 

บทความที่เกี่ยวข้อง